วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ยาน่ารู้

ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะ เป็นยาซึ่งสกัดได้จากราพันธุ์ต่าง ๆ มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยาปฏิชีวนะมีหลายกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มเพนิซิลลิน อีรีโทรมัยซิน เตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนิคอล สเตรปโตมัยซิน นอกจากนี้ยาปฏิชีวนะยังรวมถึงยาที่สังเคราะห์ขึ้นตามกระบวนการทางเคมี เช่น ยาประเภทซัลโฟนาไมด์ เป็นต้น

ยากลุ่มเพนิซิลลิน เป็นยาปฏิชีวนะที่ได้จากเชื้อราชนิดหนึ่ง ยาในกลุ่มนี้มีหลายชนิด ที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่ เพนิซิลลิน จี เพนิซิลลิน วี และแอมพิซิลลิน อันตรายที่เกิดจากการใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินจะเป็นไปในรูปของการแพ้ยา ซึ่งอาการแพ้ยาจะพบในการใช้ยาแบบฉีดและแบบทามากกว่าแบบรับประทาน
เพนิซิลลิน จี ใช้ได้ผลดีกับโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง โรคเจ็บคอ หนองใน ปอดบวม บากทะยัก ฯลฯ อาการแก้ที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นลมพิษ ผื่นคันตามตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หอบ ใจสั่น หน้ามืด บางคนอาจเกิดอาการช็อคได้
เพนิซิลลิน วี ใช้รักษาโรคติดเชื้อเช่นเดียวกับเพนิซิลลิน จี และอาการแพ้ก็เช่นเดียวกับเพนิซิลลิน จี คือ อาการลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบ ใจสั่น หน้ามืด เป็นต้น การกินเพนิซิลลิน วี ต้องรับประทานตอนท้องว่างคือ ก่อนรับประทานอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง

แอมพิซิลลิน ใช้รักษาโรคไข้รากสาดหรือไข้ทัยฟอยด์ คนไข้ที่มีประวัติแพ้เพนิซิลลินมาก่อน ห้ามใช้แอมพิซิลลินโดยเด็ดขาด อาการไม่พึงประสงค์เมื่อใช้แอมพิซิลลินคือ จะเกิดผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน ไม่ต้องตกใจเพราะไม่ใช่อาการแพ้ยา
ยาอีริโทรมัยซิน อีริโทรมัยซินสเตียเรต อีริโทรมัยซินเอสโตเลต เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคคอตีบ ไอกรนและใช้แทนเพนิซิลลิน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาเพนิซิลลิน เมื่อกินยากลุ่มนี้อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องเดิน ถ้าฉีดเข้ากล้ามเนื้อในรูปของอีริโทรมัยซินเอสเตเลต โดยใช้ติดต่อกันนานประมาณ 10-20 วัน อาจทำให้ตับอักเสบได้
ยาในกลุ่มเตตราซัยคลิน เป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ได้ผลดีกับโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคปอดบวมในผู้ใหญ่ อหิวาต์ บาดแผลหรือฝีที่ผิวหนัง ริดสีดวงตา ฯลฯ ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ เตตราซัยคลิน คลอแรมเฟนิคอล ตอกซีซัยคลิน ไมโนซัยคลิน

ข้อแนะนำและข้อห้ามการใช้ยาในกลุ่มเตตราซัยคลิน
1. ต้องรับประทานหลังอาหาร อย่ารับประทานช่วงท้องว่างหรือก่อนอาหาร เพราะยามีผลระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดคลื่นไส้อาเจียน
2. ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับนมหรือยาลดกรด เพราะจะทำให้ลดการดูดซึมของยา
3. ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะจะทำให้กระดูกและฟันไม่เจริญและแข็งแรงเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังทำให้ฟันเป็นคราบสีเหลืองด่างดำไปตลอดชีวิต
4. หญิงมีครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะยาสามารถผ่านเข้าไปสู่เด็กทำให้ความเจริญทางสมองลดลง อาจพิการ หรือสติปัญญาเสื่อม และยังไปยับยั้งการเจริญเติบโตของกระดูกและฟันได้
5. หากยาหมดอายุห้ามใช้โดยเด็ดขาด เพราะจะมีพิษต่อไป ยาหมดอายุสังเกตได้จากสีของยา หากหมดอายุจะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลเข้ม

เตตราซัยคลิน ใช้รักษาโรคปอดบวมในผู้ใหญ่อหิวาต์ บาดแผลหรือฝีที่ผิวหนัง ริดสีดวงตา เป็นต้น เตตราซัยคลินอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาคือ เป็นผื่นคันและทำให้เกิดอาการทางผิวหนังได้ง่ายเวลาถูกแสงแดด นอกจากนี้หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ยานี้ห้ามใช้กับเด็กในอายุต่ำกว่า 5 ปี หญิงมีครรภ์ และคนที่เป็นโรคตับ ข้อควรระมัดระวังอีกประการหนึ่งคือ ยาหมดอายุห้ามใช้เด็ดขาดเพราะเป็นอันตรายต่อไต

คลอแรมเฟนิคอล เป็นยาปฏิชีวนะประเภทหนึ่ง ใช้รักษาโรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย อาการแพ้ยาจะเกิดผื่นคันหรือมีไข้ได้ ข้อควรระวังห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคตับ ห้ามใช้ในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งตับยังไม่เจริญเต็มที่และห้ามใช้พร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจางอะพลาสติก ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้

โรคโลหิตจางอะพลาสติก (Aplastic anemin) เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่ง อาจเกิดได้จากการที่ไขกระดูกถูกทำลายโดยยาหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล หรืออาจเกิดได้เองโดยธรรมชาติก็ได้ เมื่อไขกระดูกถูกกดทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และทำให้เกล็ดเลือดน้อยลง ผู้ป่วยมีโอกาสเลือดออกได้ง่าย อาจรุนแรงถึงตายได้ในที่สุด

อาการ เกรย์ ซินโดรม (Gray syndrome) เป็นอาการที่เกิดในเด็กทารกแรกเกิด ซึ่งตับยังไม่เจริญเต็มที่แล้วได้รับยาคลอแรมเฟนิคอลเข้าไป ยานี้โดยมากจะถูกทำลายในตับ เมื่อตับเด็กทารกยังไม่เจริญจะเป็นผลให้มียาคับคั่งในเลือดจนเกิดเป็นพิษได้ เด็กจะมีอาการอาเจียน ตัวเขียวหรือซีดเป็นสีเทา ร่างกายอ่อนปวกเปียก ความดันต่ำและหมดสติอาจถึงตายได้

สเตรปโนมัยซิน เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาเชื้อวัณโรค และใช้ทำลายแบคทีเรียในลำไส้ ปัจจุบันนี้ความนิยมในการใช้ยาตัวนี้ลดน้อยลง เพราะปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยา และเนื่องจากยาพวกนี้อาจทำให้เกิดอาการทางหูคือ เวียนหัว มึนงง และหูหนวกได้ (เนื่องจากยาไปทำลายเส้นประสาทสมองคู่ที่ Coolและยังอาจเป็นพิษต่อไตได้ด้วย สำหรับอาการแพ้ยานั้น ผู้ใช้จะมีผื่นขึ้นตามผิวหนังและมีไข้

กานามัยซิน เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาเชื้อวัณโรคและหนองในและอาจใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหารได้ มีฤทธิ์และอาการไม่พึงปรารถนาคล้ายกับสเตรปโตมัยซินและกานามัยซินคืออาจทำให้หูหนวกซึ่งโดยมากเป็นแล้วไม่หาย มีพิษต่อไตและอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานได้

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วไป
1. ควรใช้ยาที่แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้สั่งเท่านั้น อย่าซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เองโดยเด็ดขาด
2. ผู้ป่วยต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เช่น ให้รับประทานเวลาใดเป็นเวลากี่วันก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แม้ว่าโรคที่เป็นนั้นจะทุเลาแล้วก็ต้องใช้ยาให้หมดชุด
3. หากเกิดอาการแพ้ยา หรือมีอาการไม่พึงประสงค์อย่างใดให้ปรึกษาแพทย์อย่าทำตัวเป็นหมอเสียเอง

ยาปฏิชีวนะคืออะไร?

ยาปฏิชีวนะมาจากคำว่า antibiotic ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่าสารต่อต้านการดำรงชีวิต
โดยข้อเท็จจริงหมายถึงสารที่ผลิตตามธรรมชาติโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์
ประเภทหนึ่งแล้วมีอำนาจยับยั้งหรือทำลายชีวิตของจุลินทรีย์อีกประเภทหนึ่งอันเป็นลักษณะ
ของการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อว่าเพนนิซิลลิน
ผลิตโดยเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วมีผลทำลายชีวิตของเชื้อแบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มนุษย์นำ
ประโยชน์ตรงนี้มาประยุกต์เป็นยารักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งคำว่าโรคติดเชื้อนี้แปลเอาความได้ว่า
เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรุกรานของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย มนุษย์จะคัดแยกสารปฏิ-
ชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคมาปรุงแต่งเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ
เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด แล้วให้กับผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคติดเชื้อที่คาดว่าหรือพิสูจน์ว่าเกิด
จากเชื้อต้นเหตุดังกล่าว ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมักจะมีชื่อทั่วไปที่ลงท้ายด้วยคำว่ามัยซิน
เช่น อีริโทรมัยซิน คลาริโทรมัยซิน เจนตามัยซิน ลงท้ายด้วยคำว่าซิลลิน เช่น เพนนิซิลลิน
แอมพิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน ลงท้ายด้วยคำว่าซัยคลิน เช่น เตตร้าซัยคลิน ด้อกซี่ซัยคลิน
เป็นต้น แต่มียาปฏิชีวนะหลายตัวที่อยู่นอกเหนือกฏเกณฑ์นี้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล เซฟา-
โซลิน ไรแฟมปิซิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพูดกัน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาต้าน
แบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่มาจากการ
มองยารักษาโรคติดเชื้อในแง่มุมที่ต่างกัน ยาต้านจุลชีพเป็นคำรวมที่หมายถึงยาต่อต้านการ
ดำรงชีวิตของเชื้อโรคซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจาก
ธรรมชาติหรือจากการ
สังเคราะห์ทางเคมีก็ตาม ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส หมายความถึงยาต่อ-
ต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคส่วนใหญ่ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามชื่อที่บ่งบอก
ยาฆ่าเชื้อหมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อโรคที่ใช้นอกร่างกายและเป็นคำหนึ่งที่คน
ทั่วไปมักใช้เรียกแทนยารักษาโรคติดเชื้อ ยาแก้อักเสบเป็นอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนยา
ปฏิชีวนะซึ่งคำนี้สื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากชื่อของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเรียก
ตามชื่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อแล้วตามด้วยคำว่าอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ
ปอดอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปจึงเรียกยารักษาโรคติดเชื้อว่ายาแก้อักเสบ
ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วซึ่งยาปฏิชีวนะไม่มีผลแก้ไขตรงจุดการอักเสบนี้ ยาเพียงแต่ทำลายเชื้อโรค
ที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ โดยข้อเท็จจริงแล้วการอักเสบเป็นอาการบาดเจ็บ
ที่เกิดจากความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออันมีได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการฉีก
ขาดของกล้ามเนื้อ ไขข้ออักเสบจากการสะสมของกรดยูริค เป็นต้น ดังนั้นคำว่ายาแก้อักเสบ
ควรใช้กับยาที่รักษาอาการอักเสบดังกล่าวจริงๆ ไม่ควรใช้กับยารักษาโรคติดเชื้อเพราะจะทำให้
เข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ยาผิดไปจากความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกชื่อจะต่างกันแต่ยาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้เหมือนกันคือ
ทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่รุกรานให้ลดน้อยอยู่ในวิสัยที่กลไกป้องกันตนของ
มนุษย์ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถกำจัดมันได้ และในบรรดาจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายโดยการ
ใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ได้แก่ แบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อราหลายชนิด และไวรัสบางชนิด

เหตุใดจึงเกิดโรคติดเชื้อและยาปฏิชีวนะรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างไร?

ต้องขอเน้นในชั้นต้นว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในสภาพ
ปัจจุบันปรากฏว่าประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างพร่ำเพรื่อ หรือโดยไม่จำเป็น หรือทั้งที่ความ
เจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ จนทำให้มูลค่ายาปฏิชีวนะที่ใช้แต่ละปีสูงมากจนอยู่ในอันดับ
ต้นๆ ของรายการยาที่ใช้ทั้งหมด

จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ อาหาร น้ำ และดิน ตลอดจนในร่างกาย
ของมนุษย์เองโดยเฉพาะตามบริเวณผิวหนัง ช่องปาก ทางเดินหายใจส่วนบน ลำไส้ใหญ่และ
อวัยวะเพศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ (เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น) มักจะอยู่รวมกับ
มนุษย์ในภาวะสมดุลย์และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในโอกาสที่สมดุลย์นี้เสียไปเนื่องจากมนุษย์เอง
มีภูมิต้านทานลดลงหรือจุลินทรีย์ทวีจำนวนและความร้ายแรงมากขึ้น เมื่อนั้นจะเป็นหนทาง
นำไปสู่การติดเชื้อซึ่งจุลินทรีย์จะรุกรานเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆ ทวีจำนวนมากขึ้นและก่อให้เกิด
ผลเสียหรืออันตรายต่อมนุษย์

อย่างไรก็ดีร่างกายมนุษย์จะมีกลไกต่างๆ ที่ใช้ป้องกันตนเองจากการรุกรานของจุลินทรีย์
กลไกที่สำคัญนั้นได้แก่ ผิวหนังซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมเข้าของเชื้อโรค สารขับ-
หลั่งและจุลินทรีย์บางประเภทบนผิวหนังซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค สารขับหลั่ง
ในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและทางเดินระบบสืบพันธุ์จะคอยดักจับ ทำลาย หรือยับยั้ง
การเจริญของเชื้อโรค การไอ การกลืนและการบีบตัวของลำไส้หรือเซลที่คอยพัดโบกทาง-
เดินของระบบต่างๆ จะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย เซลชนิด
หนึ่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ จะทำตนเสมือนหนึ่งพนักงานเทศบาลคอยดักจับและย่อย
สลายเชื้อโรคหรือเศษหักพังของเซล กระบวนการอักเสบก็เป็นการตอบสนองของร่างกาย
ต่อสิ่งแปลกปลอม สารเคมี หรือแม้แต่การบอบช้ำของเนื้อเยื่อ การอักเสบจะจำกัดหรือ
ทำลายตัวต้นเหตุออกไปเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้ ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าในสภาวะปกติของร่างกายแล้วมนุษย์มีวิธีการต่อสู้โดยธรรมชาติต่อเชื้อโรค
อยู่แล้วหลายประการ

ในบางกรณี อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่บั่นทอนกลไกป้องกันตนดังกล่าวของร่างกายซึ่งทำให้
เรามีโอกาสพ่ายแพ้ต่อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่

- ภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ และความบกพร่องอื่นๆ เกี่ยวกับระบบเลือด
- ภาวะทุโภชนาการหรือขาดอาหาร
- สุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรม

- โรคเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ
- วัยสูงอายุ

การกดระบบภูมิต้านทานจากยาบางประเภท เช่น ยากดภูมิต้านทาน ยารักษามะเร็ง
และสารประกอบประเภทสเตอรอยด์ เป็นต้น

การทำลายจุลินทรีย์ปกติในช่องทางเดินของระบบอวัยวะต่างๆ โดยการใช้ยาต้าน
จุลชีพอื่น

ปัจจัยข้างต้นทั้งหลายที่กล่าวมาจะทำให้มนุษย์มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกิด
เป็นแล้วการรักษาให้หายขาดหรือการฟื้นตัวจะใช้ทั้งความพยายามและเวลามากกว่าปกติ

เมื่อเกิดโรคติดเชื้อ เชื้อต้นเหตุโรคจะรุกรานเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแล้วเจริญและแบ่งตัวขยาย
พันธุ์โดยเบียดบังปัจจัยดำรงชีวิตจากร่างกายผู้ป่วย ทั้งยังผลิตสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อ
ผู้ป่วยอีกด้วย ผลประการหนึ่งจากการติดเชื้อคือทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในบริเวณ
ที่เชื้ออาศัยอยู่ เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเนื้อเยื่อเสื่อมทำลายที่บริเวณดังกล่าว นอกจาก
นั้นมักมีอาการไข้ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อโดยยับยั้งการเจริญหรือการขยายพันธุ์
ของเชื้อต้นเหตุโรค ยาปฏิชีวนะแต่ละตัวจะเลือกออกฤทธิ์โจมตีเซลเชื้อโรคตรงจุดที่แตกต่าง
จากเซลของมนุษย์ หรืออาจจะกล่าวว่ายาปฏิชีวนะมีพิษเฉพาะต่อเชื้อโรคโดยไม่มีพิษหรือมี
พิษน้อยต่อเซลร่างกายผู้ป่วย ส่วนใหญ่ยาปฏิชีวนะจะลดจำนวนเชื้อโรคลงจนเหลือน้อยและ
อยู่ในวิสัยที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะทำลายเชื้อโรคจำนวนนั้นได้ ดังนั้นภูมิต้านทาน
ของร่างกายจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำหรือ
บกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS) ผู้ที่ใช้ยากดภูมิต้านทาน หรือผู้ที่ขาดสารอาหารเรื้อรัง
เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงรักษาให้หายขาดได้ยาก

ผลเสียและอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

นื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นสารแปลกปลอมที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นจึงก่อให้เกิดผลเสีย
และอันตรายต่อร่างกายได้หลายประการ มีทั้งที่เป็นผลเสียที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของยา
ปฏิชีวนะแต่ละตัวและที่เป็นผลเสียโดยรวมของยาปฏิชีวนะทั้งหมด

ผลเสียเฉพาะตัวนั้นมี
รายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่ผลเสียโดยรวมนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

1. การแพ้ยา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ยาปฏิชีวนะแทบทุกตัว แต่มี
โอกาสมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี การแพ้ยาเป็นผลจากการตอบโต้ของภูมิ
ต้านทานร่างกายต่อยาปฏิชีวนะอย่างเกินเหตุ มีอาการได้ตั้งแต่ขั้นเบาเช่น มีผื่นตาม
ผิวหนัง เป็นไข้ ลมพิษ เป็นต้น จนถึงขั้นสาหัสซึ่งเป็นการแพ้อย่างอย่างฉับพลัน
รุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดสภาวะช้อคและเสียชีวิตได้
โดยทั่วไปถ้าหากเกิดอาการแพ้ที่อาการรุนแรงกว่าการมีผื่นตามผิวหนังแล้วมักจะหยุด
การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีผลรักษาเหมือนกันแทน ปัจจุบัน
การแพ้ยาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการรักษาโรคติดเชื้อเนื่องจากเรามี
โอกาสถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อยาปฏิชีวนะได้โดยไม่รู้ตัว เช่น จากการ
บริโภคผลิตภัณฑ์นมหรือเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่
2.การดื้อยา ในกรณีนี้หมายถึงการดื้อของเชื้อโรคต่อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคสามารถ
ทนทานต่อฤทธิ์ของยาซึ่งเคยใช้ได้ผลกับมันมาก่อน อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือ
รวดเร็วก็ได้ในระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกัน
นานๆ ในทางปฏิบัติเราควรจะตั้งข้อสังเกตุว่าเชื้อโรคเกิดดื้อยาถ้าพบว่าเมื่อใช้ยา
ปฏิชีวนะแล้วอาการของโรคติดเชื้อไม่ดีขึ้นหรือกลับมีสภาพเลวลง ส่วนใหญ่การดื้อยา
เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคทำให้มันกลายพันธุ์เป็นชนิดที่
สามารถทนทานต่อยาได้ และโดยทั่วไปเชื้อโรคซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่งมักจะ
พลอยดื้อต่อยาปฏิชีวนะอื่นที่อยู่ในประเภทเดียวกันหรือมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกัน
ซึ่งทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะประเภทอื่นหรือที่มีสูตรโครงสร้างต่างออกไป
3. การติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นสภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเมื่อสมดุลย์ของจุลินทรีย์ซึ่ง
มีอยู่ตามปกติในร่างกายถูกกระทบกระเทือนหรือทำลายไป ในสภาพปกติจุลินทรีย์
เหล่านี้บางชนิดมีประโยชน์โดยทำหน้าที่เหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกายคอยปราม

จุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ก่อโรคให้สงบ การใช้ยาปฏิชีวนะนั้นในบางกรณีนอกจากจะทำลาย
เชื้อต้นเหตุโรคแล้วยังพลอยทำให้จุลินทรีย์ชนิดนี้ถูกทำลายไปด้วย ซึ่งทำให้จุลินทรีย์
ชนิดที่ทนทานต่อยาซึ่งหลงเหลืออยู่มีโอกาสแบ่งตัวขยายพันธุ์มากขึ้นและก่อให้เกิด
การติดเชื้อชนิดใหม่ การติดเชื้อแทรกซ้อนอาจสังเกตุได้จากอาการของโรคที่เปลี่ยน
ไปจากลักษณะเดิมที่เคยเป็นอยู่แต่แรก เช่น การติดเชื้อเดิมทำให้เจ็บคอ แต่ครั้นเมื่อ
ใช้ยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่งอาการเจ็บคออาจทุเลาลงแต่กลับมีอาการท้องเสียรุนแรง
หรืออักเสบในช่องคลอด เป็นต้น สภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนนี้อาจเกิดได้ง่ายเมื่อใช้
ยาปฏิชีวนะที่มีขอบเขตทำลายเชื้อกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้เป็นเวลา
นาน และมักเป็นปัญหาต่อการรักษาเนื่องจากเชื้อต้นเหตุโรคติดเชื้อใหม่นั้นมักเป็น
สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป วิธีที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
คือหยุดใช้ยาปฏิชีวนะที่กำลังใช้อยู่พร้อมกับพยายามจำแนกเชื้อที่เป็นต้นเหตุการ
ติดเชื้อแทรกซ้อนนั้นให้ถูกต้อง แล้วรีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่นที่สามารถทำลายเชื้อ
ดังกล่าวได้ดี

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้และการปฏิบัติอย่าง
ถูกต้อง ซึ่งสรุปเป็นหลักการทั่วไปได้ดังต่อไปนี้


1.ประการแรกต้องแน่ใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อ สิ่งนี้อาศัย
การวินิจฉัยด้วยประสพการณ์ของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งจะสังเกตุจากตำแหน่งของ
การเกิดโรค ลักษณะอาการของโรค และยืนยันด้วยผลพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการจุล-
ชีววิทยาว่ามีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอยู่แถวบริเวณที่เกิดความเจ็บป่วย เช่น ตรวจ
เพาะเชื้อจากเสมหะ เลือด หรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
2.ควรวินิจฉัยว่าจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนั้นคืออะไร ส่วนใหญ่แพทย์มัก
สรุปเชื้อต้นเหตุโรคจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรค และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบ
ควรตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าเชื้อต้นเหตุโรคดังกล่าวคือเชื้ออะไรและถูก

ทำลายด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใดบ้าง เนื่องจากเชื้อโรคแต่ละชนิดมักจะสยบต่อยา
ปฏิชีวนะต่างชนิดกัน เชื้อโรคบางชนิดหรือบางสายพันธุ์จะทนทานต่อยาปฏิชีวนะ
บางตัวซึ่งถ้าหากไม่ทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วใช้ยาโดยการคาดคะเน อาจเลือกยาผิด
ทำให้การรักษาอาจล้มเหลวและเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้
3. เมื่อทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วต้องเลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วย
แต่ละรายไป ไม่จำเป็นว่ายาที่เลือกใช้จะต้องเป็นยาที่มีอำนาจทำลายเชื้อต้นเหตุโรค
ได้สูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เป็นตัวช่วยกำหนดอีกหลายประการ อาทิเช่น
กำลังภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือพยาธิ
สภาพอื่น เช่น โรคเกี่ยวกับตับไตร่วมอยู่หรือไม่ ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะตัวใดบ้าง แม้แต่
สถานภาพของผู้ป่วยว่าเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน หรือราคายา ก็อาจมีผลกระทบต่อ
การเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน ยาที่เลือกใช้ควรจะเป็นยาตัวที่พิจารณาจากองค์
ประกอบและปัจจัยส่งเสริมทุกประการแล้วเล็งเห็นว่าจะยังประโยชน์สูงสุดต่อการ
รักษาโรคติดเชื้อของผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น
4.ใช้ยาที่เลือกสรรแล้วด้วยแผนการให้ยาที่ถูกต้อง กล่าวคือต้องใช้ยาด้วยวิธี ขนาดยา
และกำหนดเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการประยุกต์ทั้งศาสตร์และศิลป์ทางเวชบำบัด
ที่แพทย์ต้องนำมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมักจะมีแผนการให้ยาที่
แตกต่างกันไปตามความสาหัสของโรค ดังนั้นจึงไม่อาจกำหนดตายตัวได้ว่ายาปฏิ-
ชีวนะตัวหนึ่งต้องใช้วิธี ขนาดยา และกำหนดเวลาอย่างไร แต่อาจจะยึดเป็นหลัก
เบื้องต้นว่าไม่ควรหยุดการให้ยาในทันทีที่อาการของโรคหายไป ควรใช้ยาต่อไปอีก
สักระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อต้นเหตุโรคในร่างกายได้ถูกกำหราบโดยสิ้นเชิงแล้ว
เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดไม่รุนแรงควรใช้ยาปฏิชีวนะ
ประมาณ 5-7 วัน
5.หลีกเลี่ยงปฏิกริยาต่อกันของยาปฏิชีวนะกับยาอื่นที่ได้รับในเวลาเดียวกัน หลักการ
ข้อนี้เป็นสิ่งที่มักจะถูกเมินอยู่เป็นนิจเนื่องจากเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไม่แสดงผลเสีย
ให้เห็นอย่างชัดเจน และในหลายกรณีก็ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ดีการ

รักษาโรคในปัจจุบันมักใช้ยาร่วมกันหลายตัว ซึ่งยาที่ใช้ดังกล่าวอาจมีปฏิกริยาต่อกัน
และมีผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลพิษต่อไตร่วมกับ
ยาอื่นซึ่งมีพิษต่อไตจะเสริมฤทธิ์กันและอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการพิษต่อไต
รุนแรงจนถึงขั้นไตวาย ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องทราบปฏิกริยาต่อกันที่สำคัญ
ของยาปฏิชีวนะหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

เมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะต้องรับประทานให้ครบขนาดและกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากการทำลายเชื้อโรคนั้นต้องให้เชื้อโรคในร่างกายสัมผัสกับยาในระดับที่สูงพอ
อย่างต่อเนื่อง เมื่อเรารับประทานยาขาดหรือไม่ตรงเวลาจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่สูง
พอจะทำลายเชื้อโรค ถ้าเรารับประทานยาไม่ต่อเนื่องจนครบกำหนดเชื้อโรคส่วนที่ยัง
เล็ดรอดอยู่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก โรคติดเชื้อก็จะไม่หาย มิหนำซ้ำในบางกรณีเชื้อโรค
ที่เล็ดรอดไปได้จะคุ้นเคยกับยาและกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยา ทำให้เกิดปัญหา
ในการรักษาเมื่อเกิดโรคติดเชื้อเดิมอีกครั้ง


เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้
รุนแรงควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือ
เภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้วจะต้องจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษา
โรคครั้งต่อๆ ไป


ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้มากๆ เนื่องจากการติดเชื้อนั้นจะต้องใช้ยาให้เหมาะกับ
เชื้อต้นเหตุซึ่งในแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไป จึงควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกร
ทุกครั้งที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อเพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เช่นเดียวกันไม่ควร
แบ่งปันยาปฏิชีวนะของตนให้ผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อเนื่องจากอาจเกิดจากเชื้อต้นเหตุ
ต่างชนิดกับที่ตัวเองเป็นอยู่

ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว อาจสังเกตุได้จากวันหมดอายุ
ซึ่งพิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้น
สีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้
ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็นและใช้ให้หมดภายในเวลา 7 วัน เนื่องจากยาน้ำ
ดังกล่าวมักไม่คงตัวอยู่นาน


ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษ
ต่อไต มีปฏิกริยาต่อกันกับยาอื่นแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เป็นต้น กรณีของยา
เหล่านี้เภสัชกรจะให้คำชี้แจงแก่ผู้ใช้ยาเสมอถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง ตัวอย่าง
ของกรณีดังกล่าว เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอีริโทรมัยซินหรือยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล
มีผลลดความสามารถทำลายยาของตับ ถ้าหากใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วง
บางตัว เช่น เทอร์เฟนนาดีนหรือแอสเตมิโซลจะมีผลให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวถูกทำลาย
น้อยลงจนเป็นเหตุให้เกิดผลพิษต่อหัวใจ โดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งมี
อันตรายร้ายแรง เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกหลักการทำได้ยากกว่ายารักษาโรค
ทั่วไป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเกิด
ความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ อย่าได้ลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะ
มารับประทานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน เพราะถ้าโชคดีความเจ็บป่วยนั้น
อาจจะบรรเทาลงได้ แต่ถ้าโชคร้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยเองจะมากกว่าที่คาดคิด
ไว้ เช่น โรคลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น ผลเสียจากการใช้ยา
ปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ที่ดื้อยา
ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นกับผู้ป่วยรายอื่นๆ




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก