วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2551

JoE Theerapong - Theerapong's Blog

JoE Theerapong - Theerapong's Blog

Blog Entryทำอย่างไรเมื่อต้องการเดินเรือค้าNov 16, '07 2:36 AM
for everyone

สวัสดีครับ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน ทั้งผู้ที่สนใจที่ออกจากราชการกองทัพเรือมาสู่โลกกว้าง ของการเดินเรือพาณิชย์ และผู้ที่อ่านเล่นๆ ประดับเป็นความรู้ กระผมในนามของผู้ที่อยู่ในหน่วยงานราชการที่ดูแลในเรื่องให้ความรู้ของคนประจำเรือพาณิชย์ จึงขออาสาด้วยความเต็มใจ!! (แกมถูกบังคับในฐานะเป็นน้องเล็กสุดในหน่วยงาน) มารับหน้าที่ทำให้ทุกท่านเกิดความเข้าใจในการที่จะลาออกจากราชการกองทัพเรือ ครับ

ก็คงไม่มีอะไรมากหรอกครับ อันดับแรกสุดเลยที่ทุกท่านต้องทำให้ได้คือ “ทำใจ” ครับ พร้อมหรือยังที่จะลาออก แต่ถ้าคิดดูอีกทีคงไม่ต้องมีความพร้อมมากก็ได้ครับ เพราะถ้าพร้อมมากอาจจะเกิดความลังเล แล้วไม่ได้ออกนะครับ อย่างผู้เขียนบอกตรงๆว่า ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพเรือไม่รู้อะไรเลยครับว่าต้องทำอะไรบ้าง รู้แค่ว่าจะลาออกแล้วต้องติดต่อกับกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่าเดิม) เพื่อทำตั๋วหรือประกาศนียบัตรตามข้อบังคับปี 32 เท่านั้นเอง (แล้วจะอธิบายให้ทราบต่อไปว่าเป็นอย่างไร) พอได้ตั๋วแล้วก็ลาออกเลยครับ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะกล่าวก็คือ เมื่อลาออกแล้วทุกท่านมียศที่ในหลวงพระราชทานติดตัวมาเท่านั้นนะครับ ความเป็นทหารเก็บไว้เป็นศักดิ์ศรีลึกๆในใจเรา แล้วก็เอาความมีวินัยมาใช้ให้เป็นปะโยชน์ แต่ท่านไม่ใช่ทหารนะครับ (อย่าลืม! ท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือนะครับ) ดังนั้นการวางตัวก็ควรจะเหมาะสมกับฐานะที่ควรจะเป็น ที่เหลือคิดเอาเองว่าควรจะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสมกับโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าเสียดายความเป็นทหารก็ไม่ต้องลาออกมาหรอกครับ แล้วจะมาเสียใจภายหลัง จงเลือกระหว่างเงินกับเกียรติยศความเป็นทหาร

เมื่อทำใจได้แล้วพร้อมที่จะลาออกแล้ว ต่อไปที่ต้องทำก็คือตรวจสอบระยะเวลาการอยู่เรือหรือที่เรียกกันว่า Sea service ของท่านว่ามีกันกี่ปีแล้ว ในช่วงแรกนี้ผมจะกล่าวถึงการปฏิบัติตาม “ข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการฝึกอบรม การสอบความรู้และการออกประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือ พ.ศ. 2541 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “ข้อบังคับปี 42” ซึ่งผมจะเรียกแบบสั้นๆนี้ แล้วก็ได้ข่าวแว่วลอยมาตามลมว่ากำลังมีการแก้ไขอยู่ แต่ไม่ทราบจะออกมาในลักษณะอย่างไรก็จะยังไม่กล่าวถึง นะครับ แล้วในตอนท้ายผมจะกล่าวถึง “ข้อบังคับกรมเจ้าท่าว่าด้วยการสอบความรู้ผู้ทำการในเรือ พ.ศ. 2532” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “ข้อบังคับปี 32” เผื่อมีท่านใดสนใจแต่หากินลำบากหน่อยนะครับ

ตามข้อบังคับปี 42 นี้ เมื่อท่านจบจากโรงเรียนนายเรือแล้ว มี Sea service ครบตามที่ข้อบังคับกำหนดท่านก็สามารถขอสอบความรู้เพื่อขอรับประกาศนียบัตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า ได้ครับ ผมขอยกข้อบังคับในเรื่องของการสอบความรู้ประกาศนียบัตรนี้มาให้อ่านกันเลยแล้วจะอธิบายต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ข้อ 30 ประกาศนียบัตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัตินอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อ 24 ดังต่อไปนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

(2) สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วไปไม่น้อยกว่า 12 ปี หรือเทียบเท่า

(3) ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานวิทยุ GMDSS ที่ได้รับการรับรองหรือมีประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุ GMDSS GOC หรือ ROC

(4) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาและฝึกอบรม ที่ได้รับการรับรองตามหลักสูตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า และผ่านการฝึกปฏิบัติงานในฝ่ายเดินเรือที่รวมอยู่ในหลักสูตรการศึกษาฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองและมีบันทึกการฝึกปฏิบัติงานลงในสมุดรายงานการฝึกมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า สิบห้าเดือน หรือผ่านการปฏิบัติงานในฝ่ายเดินเรือมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า สี่สิบแปดเดือน ในเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่าหรือในเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่งขนาด 3,000 ตันกรอสหรือมากกว่า และในระยะเวลาการฝึกหรือการปฏิบัติงานดังกล่าวต้องมีการเข้ายามบนสะพานเดินเรือภายใต้การควบคุมของนายเรือหรือนายประจำเรือมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือ

(5) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 2 ฝ่ายเดินเรือจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีหรือโรงเรียนนายเรือหรือสถาบันอื่นที่ได้รับการรับรอง และผ่านการปฏิบัติงานในฝ่ายเดินเรือในเรือหลวงหรือเรือราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีสำหรับประกาศนียบัตรที่จำกัดการทำหน้าที่เฉพาะในเรือที่ไม่ได้ทำการค้า และ

(6) ผ่านการประเมินว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานหลักสูตรนายประจำเรือฝ่ายเดินเรือของเรือกลเดินทะเลขนาด 500 ตันกรอสหรือมากกว่า ตามที่กำหนดไว้ในผนวก 1 ตารางที่ 2 ของข้อบังคับนี้”
นี่คือที่กำหนดไว้ในข้อบังคับปี 42 ครับ อ่านแต่เริ่ม หลายท่านคงสงสัยว่า “ข้อ 24” คืออะไร ผมก็เลยยกข้อ 24 มาอีกข้อ ดังนี้

ข้อ 24 ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทยหรือเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตตามข้อ 25

(2) มีสุขภาพร่างกายที่เหมาะสม ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ในระเบียบกรมเจ้าท่าว่าด้วยคนประจำเรือเดินทะเล พ.ศ. 2541”

ส่วนข้อ 25 คงไม่ต้องสนใจเพราะเป็นกล่าวถึงคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย มีไหมครับ ท่านที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย

เมื่อได้ลองพินิจพิจารณาแล้วเห็นแววไหมครับ จะไปหากินอย่างไรดี? แต่ถ้าอยากจะดูข้อบังคับข้ออื่นประกอบก็ลองเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางน้ำฯ www.md.go.th/law/kr41_control01.htm
จากที่ได้นำเอาข้อ 30 ของข้อบังคับปี 42 มาให้ทุกท่านได้อ่านกัน เนื่องจากว่าเป็นประกาศนียบัตรหรือตั๋วชั้นแรกที่ผู้ที่ทำการในเรือค้าระหว่างประเทศต้องมี และผมแนะนำว่าท่านที่จบโรงเรียนนายเรือทำตั๋วชั้นนี้เถอะครับถ้าทำได้ โอกาสในการทำงานมันดีกว่าตั๋วเริ่มต้นชั้นอื่น

จากการวิเคราะห์ดูแล้ว ในข้อ (1), (2) ผ่านทุกท่านแน่นอน ข้อ (3) ท่านต้องมาทำการอบรมที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี ซึ่งการที่จะสอบตั๋วได้ท่านต้องมีประกาศนียบัตรของหลักสูตรอื่นอีก ซึ่งจะกล่าวต่อไปว่าต้องมีหลักสูตรอะไรบ้าง แล้วเสียค่าใช้จ่ายในการอบรมเท่าไร ต่อไปคือข้อ (4) ข้อนี้จบโรงเรียนนายเรือหมดสิทธิ์ครับ เราไม่มีคุณสมบัติในข้อนี้เลย แต่อย่าเพิ่งตกใจครับ ในข้อนี้มีคำว่า “หรือ” อยู่ด้วย ดังนั้นทุกท่านดูที่ข้อ (5) เลยครับ จบปี 2 แน่นอนทุกท่านจบเป็นนายทหารได้ต้องจบปี 5 ดังนั้นคุณสมบัตินี้ผ่าน ต่อไปคือระยะเวลาการอยู่เรือ (Sea service) ไม่น้อยกว่า 3 ปี เอ้า! ลองตรวจดูของตัวเองหน่อยครับได้ตามนี้ไหม เมื่อได้ท่านก็สามารถขอสอบตั๋วที่กรมการขนส่งทางน้ำได้ครับ แต่ว่าเอาแบบที่ไม่ได้ทำการในเรือค้าไปนะครับ โอ้โห! เอาไปทำอะไรครับ ทำมาหากินที่ไหนหละครับ? แต่ก็พอได้อยู่นะครับกับบริษัทพี่ๆ ของพวกเราเอง ซึ่งมีอยู่ไม่กี่แห่ง นอกนั้นก็บริษัทเล็กๆ เดินเรือแถวๆ นี้เงินก็น้อยลงไป แต่ก็ยังดีกว่าเงินเดือนทหารนะครับ คิดในแง่ที่ดี! ส่วนข้อ (6) คือการสอบตั๋วที่กรมการขนส่งทางน้ำฯ ซึ่งตั้งอยู่แถวตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ใกล้ๆ กับหัวลำโพง ครับ

แต่ถ้าบางท่านได้อ่านข้อบังคับฯ ทางเว็บกรมฯ แล้วอาจจะสงสัยว่าจบปี 5 สามารถสอบตั๋วนายเรือหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “ตั๋ว Master” ได้ไม่ใช่หรือ ก็ให้ท่านลองอ่านดีๆ อีกทีนะครับ ว่าทำไมถึงไม่ได้

หวังว่าคงพอเข้าใจกันบ้างไม่มากก็น้อย หรือเรียกอีกอย่างคือ ไม่น้อยก็มาก มีอยู่แค่นี้แหละครับ หลังจากอ่านมาถึงตรงนี้ การที่จะสอบตั๋วได้ทุกท่านก็ต้องมีประกาศนียบัตรหลักสูตรต่างๆ ตามที่ STCW หรือเรียกเต็มๆ ว่า “International Convention on Standards of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers, 1978” เป็นอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องของมาตรฐานคนประจำเรือ ซึ่งคนประจำเรือทุกระดับชั้นต้องมีมาตรฐานตามที่กำหนด ดังนั้นเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดนี้ ท่านก็ต้องทำการฝึกอบรมเพื่อขอสอบตั๋วชั้นนี้ทั้งหมด 9 หลักสูตร แต่สำหรับผู้ที่จบจากโรงเรียนนายเรือท่านได้สิทธิพิเศษ สามารถทำการเทียบหลักสูตรเหล่านี้ได้ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ 4 หลักสูตรพื้นฐาน (การป้องกันและการดับไฟ, ดำรงชีพในทะเล, ความปลอดภัยและความรับผิดชอบบนเรือ และปฐมพยาบาล 1) ส่วนอีกหนึ่งหลักสูตรคือ เรือช่วยชีวิต โดยการนำเอาสำเนาใบปริญญาบัตร, รูปถ่ายขนาด 1½ นิ้ว หรือ 2 นิ้ว และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรข้าราชการ มาติดต่อที่ฝ่ายทะเบียนและวัดผล อาคารอำพลฯ ชั้น 2 ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี เมื่อท่านได้ทำการเทียบโอนเรียบร้อยแล้ว ท่านก็เหลือที่จะต้องทำการอบรมอีก 4 หลักสูตร คือ

1. ปฐมพยาบาล 2 ค่าอบรมหลักสูตรท่านละ 2,300 บาท

2. การดับไฟชั้นสูง ค่าอบรมหลักสูตรท่านละ 4,000 บาท

3. RADAR ARPA ค่าอบรมหลักสูตรท่านละ 5,500 บาท

4. GMDSS GOC ค่าอบรมหลักสูตรท่านละ 6,000 บาท หรือ GMDSS ROC ค่าอบรมหลักสูตรท่านละ 3,000 บาท

ซึ่งลองพิจารณาดูดีๆ แล้วสูตรที่ 1-3 พวกเราได้รับการฝึกและร่ำเรียนมาจากโรงเรียนนายเรือแล้วมาทั้งสิ้น ทำไมถึงต้องมาทำการฝึกอบรมเพิ่มเติมกันอีก ตรงนี้ถ้าให้ผู้เขียนตอบคงต้องบอกว่า “ไม่ทราบ” คงต้องรบกวนผู้ที่อยู่ในกองทัพเรือสอบถามผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องดูว่าจะทำไงกันดี มันน่าจะเป็นประโยชน์ของพวกเรานะครับ ส่วนหลักสูตรที่ 4 นั้นช่วยไม่ได้ครับต้องอบรมเพราะเราไม่ได้เรียนมา เว้นก็แต่พวกที่เรียนหลักสูตรนายทหารสื่อสารของ ทร.มาแล้วเท่านั้นละครับที่ไม่น่าต้องเรียน

เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองครบแล้ว อบรมหลักสูตรต่างๆ ครบแล้ว ต่อไปท่านก็ต้องไปติดต่อที่กรมฯ เพื่อขอซื้อใบตรวจโรคเพื่อทำประกาศนียบัตรสุขภาพ หรือ คร.5 หลังจากที่ได้ใบประกาศฯสุขภาพแล้วก็ไปติดต่อขอสอบที่แผนกคนประจำเรือ พอทุกท่านถึงขั้นตอนนี้ ก็จะเริ่มคล่องกันแล้วหละครับ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ก็จะดูแลท่านเป็นอย่างดี เกือบลืม ท่านต้องทำ In-service book ด้วยครับไปขอซื้อที่ สำนักความปลอดภัยทางน้ำ ในราคาเล่มละ 500 บาท แล้วทำด้วยนะครับ ทำอย่างไรคงไม่อธิบายในนี้ เมื่อมีครบตามนี้ ที่เหลือก็อยู่ที่ฝีมือของท่านแล้วหละครับว่าเก่งกาจสามารถแค่ไหน แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าผู้ที่จบโรงเรียนนายเรือได้ต้องไม่ธรรมดา

เอาหล่ะครับตามข้อบังคับปี 42 ผ่านไป ต่อไปก็จะมาถึงคนที่สนใจปฏิบัติตามข้อบังคับปี 32 บ้างนะครับ แต่ตั๋วที่ออกตามข้อบังคับปี 32 ตอนนี้ไม่สามารถไปหากินที่ไหนได้แล้วนะครับ เว้นเสียแต่ว่าท่านต้องทำงานในกรมการขนส่งทางน้ำฯ หรือการท่าเรือฯ เท่านั้นที่ทำได้ เพราะตั๋วนี้เดินเรือได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนรายละเอียดผมจะยกเฉพาะข้อที่เหมาะกับพวกที่จบโรงเรียนนายเรือและทำงานในพรรคนาวินที่มีเวลาอยู่เรือมาแล้วนะครับ ส่วนพวกที่ไม่เคยทำงานเรือไม่มีระยะเวลาการอยู่เรือ ทั้งพรรคนาวินและพรรคนาวิกโยธิน ก็ได้แค่ประกาศนียบัตรชั้น 3 (ต้นหนที่สอง) เท่านั้นครับ

ต่อไปเป็นข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 20 ผู้สมัครสอบต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย

(2) ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหายร้ายแรง หรือมีความประพฤติเสียหาย อันอาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย

(3) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(4) ไม่เป็นผู้มีร่างกายพิการหรือมีร่างกายไม่สมประกอบ จนไม่สามารถทำการตามตำแหน่งหน้าที่ได้

(5) ไม่เป็นผู้มีโรคติดต่อซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจ

(6) เป็นผู้มีสายตาดี และหูฟังเสียงได้ดี

(7) คุณสมบัติตาม (3), (4), (5) และ (6) ผู้สมัตรสอบต้องแสดงเอกสารใบรับรองแพทย์ประกอบการพิจารณาด้วย

ข้อ 21 ประกาศนียบัตรชั้น 1 (นายเรือ)

ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรชั้น 1 (นายเรือ) ต้องมีคุณสมบัตินอกเหนือจากที่กำหนด ในข้อ 20 ดังนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 24 ปีบริบูรณ์

(2) เป็นผู้มีประกาศนียบัตรชั้น 2 (ต้นหนที่หนึ่ง) และเคยทำการในเรือในตำแหน่งซึ่งกำหนดให้ใช้ประกาศนียบัตรนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ

(3) เป็นผู้มีประกาศนียบัตรชั้น 2 (ต้นหนที่หนึ่ง) และเคยเป็นนายเรือ หรือผู้บังคับการเรือของเรือราชการ และเคยปฏิบัติหน้าที่ในเรือสินค้าในตำแหน่งซึ่งกำหนดให้ใช้ประกาศนียบัตรชั้น 2 (ต้นหนที่หนึ่ง) มาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี ทั้งนี้ระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ในเรือสินค้าต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถ้าหากไม่มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในเรือสินค้า ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรพิเศษสำหรับนายเรือ ของศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่า หรือ

(4) เป็นผู้ที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายเรือ หรือสถาบันอื่นที่เทียบเท่าพรรคนาวิน และเคยเป็นผู้บังคับการเรือมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสอบความรู้ได้ตามหลักสูตรผู้บังคับการเรือในกองทัพเรือ และเคยปฏิบัติหน้าที่ในเรือหลวงมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี

ข้อ 22 ประกาศนียบัตรชั้น 2 (ต้นหนที่หนึ่ง)

ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรชั้น 2 (ต้นหนที่หนึ่ง) ต้องมีคุณสมบัตินอกเหนือจากที่กำหนดใน ข้อ 20 ดังนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์

(2) เป็นผู้มีประกาศนียบัตรชั้น 3 (ต้นหนที่สอง) และเคยทำการในเรือในตำแหน่งซึ่งกำหนดให้ใช้ประกาศนียบัตรนี้ หรือเคยปฏิบัติหน้าที่นายยามเรือเดินในทะเลของเรือราชการซึ่งมีขนาดไม่ต่ำกว่า 200 ตันกรอส หรือความยาวฉากไม่ต่ำกว่า 25 เมตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ

(3) เป็นผู้ที่จบการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายเรือ หรือสถาบันอื่นที่เทียบเท่าพรรคนาวิน และเคยปฏิบัติหน้าที่ในเรือหลวงมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือสอบความรู้ได้ตามหลักสูตรบังคับการเรือ หรือหลักสูตรต้นหนในกองทัพเรือ

ข้อ 23 ประกาศนียบัตรชั้น 3 (ต้นหนที่สอง)

ผู้สมัครสอบเพื่อขอรับประกาศนียบัตรชั้น 3 (ต้นหนที่สอง) ต้องมีคุณสมบัตินอกเหนือจากที่กำหนดไว้ใน ข้อ 20 ดังนี้

(1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

(2) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือหลักสูตรอื่นใดที่เทียบเท่า

(3) เป็นผู้มีประกาศนียบัตรชั้น 4 (ต้นหนที่สาม) และเคยทำการในเรือในตำแหน่งซึ่งกำหนดให้ใช้ประกาศนียบัตรชั้นนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือ

(4) เป็นผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรเดินเรือจากสถาบันการศึกษาซึ่งอธิบดีรับรองให้มีสิทธิสมัครสอบ”

นี่คือส่วนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นถ้าใครสนใจที่จะอ่านทั้งหมดให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางน้ำฯ www.md.go.th/law/kr32_control01.htm สำหรับข้อบังคับนี้คงไม่ต้องมีการอธิบายเนื่องจากว่าอ่านเข้าใจง่ายอยู่แล้ว และไม่ต้องมีการฝึกอบรมหลักสูตรเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่มีในบทความแล้วถ้ามีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ท่านใดสงสัยสามารถติดต่อกับผู้เขียนได้โดยตรงที่ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี นอกจากนี้ก็ยังมีพี่ๆ ของผมอีกหลายท่านที่สามารถตอบคำถามของท่านได้

ผมขอจบบทความในครั้งนี้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ แล้วจะมาเขียนบทความใหม่ๆ ให้พวกเราได้อ่านกันนะครับ กระผมหวังว่าบทความชิ้นนี้น่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย ไม่น้อยก็มาก สำหรับบางท่านหรือหลายท่าน อย่างไรก็ดี “คิดให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ แต่อย่าคิดนาน” หวังว่าคงได้เจอกันครับ สวัสดี โชคดีทุกท่าน

ร.อ.ธีรพงษ์ โพธิรังษี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก